วันเสาร์ที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2560

รองผู้ว่าฯบุรีรัมย์แนะนำชาวบ้านควรนำผักตบชวาที่ดูไร้ค่าไปทำปุ๋ยบำรุงดินลดต้นทุนและเพิ่มผลผลิตพืชผลทางการเษตร

จังหวัดบุรีรัมย์รณรงค์ส่งเสริมให้ชาวบ้านนำผักตบชวาที่ดูไร้ค่า มาใช้ให้เกิดประโยชน์ปรับปรุงบำรุงดินเพิ่มผลผลิตพืชผลทางการเกษตร

          นายดำรงชัย  เนรมิตตกพงศ์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เดินทางไปตรวจเยี่ยม ติดตามและให้กำลังใจ กำลังทหารจาก มณฑลทหารบกที่ 26 สาสมัครรักษาดินแดน และส่วนราชการ และภาคเอกชนที่กำลังช่วยกันเร่งกำจัดผักตบชวาจำนวนมาก ที่ลำห้วยตลาด บ้านสะแกซำ หมู่ที่ 3 ต.สะแกซำ อ.เมือง จ.บุรีรัมย์  ตามโครงการประชารัฐร่วมใจ กำจัดผักตบชวาเพื่อคลองสวยน้ำใส  ซึ่งปริมาณผักตบชวาที่หนาแน่นจำนวนมากเป็นสาเหตุทำให้ลำห้วยตื้นเขินตะกอนดินทับถม และกีดขวางทางไหลของน้ำ ในช่วงน้ำหลากน้ำเอ่อท่วมบ้านเรือน พื้นที่เกษตรของประชาชน ส่วนหน้าแล้งไม่มีน้ำใช้ ไม่มีน้ำทำการเกษตรเนื่องจากลำคลองไม่สามารถกักเก็บน้ำให้เต็มปริมาณได้  ซึ่งภายหลังจากที่นำผักตบชวาขึ้นจากลำห้วยแล้ว สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ ได้จัดกิจกรรมฝึกอบรม และสาธิตการการทำปุ๋ยพืชสดจากผักตบชวาให้แก่ชาวบ้าน เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงบำรุง เพิ่มผลผลิตให้พืชผลทางการเกษตร และเป็นการกระตุ้น รณรงค์ให้ชาวบ้านนำผักตบชวาที่ดูไร้ค่าไปใช้ให้เกิดประโยชน์ ลดการแพร่พันธุ์จนหนาแน่นยากต่อการกำจัด และเป็นปัญหาอื่นๆตามมา เป็นการคืนลองสวยน้ำใสได้อย่างยั่งยืน ตามนโยบายรัฐบาล



          ส่วนวิธีการทำปุ๋ยพืชสด ว่าที่ ร.ต. อาทิตย์ เกษดี เจ้าพนักงานการเกษตร สถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์ บอกว่า วิธีการทำก็ไม่ได้ยุ่งยากอะไร วัสดุที่ใช้ทำก็จะมี สาร พ.ด. 1 จำนวน  1 ซอง สำหรับวัสดุทำปุ๋ย 1 ตัน ซึ่งสถานีพัฒนาที่ดินบุรีรัมย์แจกให้ฟรี /  มูลวัว  20  กิโลกรัม / ผักตบชวา 1,000 กิโลกรัม / ปุ๋ยยูเรีย 2 กิโลกรัม  ส่วนขั้นตอนการทำ อันดับแรกหาไม้ไผ่ หรือไม้อื่นที่แข็งแรง ตอกลงพื้นดินกั้นเป็นคอกสี่เหลี่ยมสำหรับกั้นวัสดุ โดยวัสดุชั้นแรกให้นำผักตบชวาใส่ไปก่อนควรใช้มีดสับขาดจากกัน แล้วใช้มูลวัว หรือปุ๋ยคอกโรยให้ทั่วในชั้นที่ 2 ตามด้วยปุ๋ยยูเรียโปรยลงให้ทั่ว จากนั้นให้นำสาร พ.ด.ละลายน้ำรดให้ทั่วกองในชั้นแรก  ส่วนที่เหลือก็ทำแบบเดียวกันเป็นชั้นๆจนกระทั่งหมดวัสดุจากผักตบชวา จำนวน  1,000 กิโลกรัม เมื่อชั้นสุดท้ายใช้กระสอบป่านคลุกและรดน้ำที่ผสมสารเร่ง พ.ด.1 ให้ชุ่ม  หลังจากนั้นทุกๆ 7 วัน ให้พลิกกลับกองปุ๋ยเพื่อให้เกิดการถ่ายเทของอากาศและคลุมกระสอบกลับตามเดิม  จากนั้นประมาณ 1 เดือน เกษตรกรจะได้ปุ๋ยที่มีธาตุไนโตรเจนสูง ในปริมาณ 1 ตันไปปรับปรุงโครงสร้างดิน บำรุงดินเป็นประโยชน์ต่อพืชผัก และนาข้าวของเกษตรกรได้เป็นเป็นอย่างดี  ส่วนเกษตรกรที่สนใจสามารถขอคำแนะนำ และรับสาร พ.ด.1 หรือวิธีการทำปุ๋ยสูตรต่างๆ สามารถขอคำแนะนำได้ที่ สถานีพัฒนาที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ พร้อมให้คำปรึกษา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

ประกาศคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา ตำแหน่งครูผู้ช่วย สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปี พ.ศ.2561

ประกาศคณะกรรมการศึกษาธิการจังหวัดบุรีรัมย์ เรื่อง รับสมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุและแต่งตั้งบุคคลเข้ารับราชการเป็นข้าราชการครูและบุคลากรทางการศ...